จริงหรือ? สังคมสูงอายุทำให้เศรษฐกิจโตช้า

จริงหรือ? สังคมสูงอายุทำให้เศรษฐกิจโตช้า
วันที่ 21 มิ.ย. 2564 | ผู้เข้าชม 2,924 ครั้ง | โดย กลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่ระบุถึงสถานการณ์ทั่วโลก กำลังดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 ด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายภายในและการลดภาษีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง แต่มีข้อมูลหนึ่งระบุถึงความเกี่ยงโยงกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทั่วโลก ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่ง IMF ระบุว่าการอัดฉีดนโยบายการคลังในประเทศที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าประเทศที่มีประชากรอายุน้อย

IMF ชี้ให้เห็นว่าการกระตุ้นทางการคลังในเศรษฐกิจที่มีประชากรอายุน้อยส่งผลในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโต โดยระบุถึงประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเฉลี่ยร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดจะเติบโตได้ช้า ซึ่งในยุโรปประเทศที่เป็นสังคมสูงอายุที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 คือ อิตาลี โปรตุเกส เยอรมนี  ส่วนสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยูโรโซนก็เริ่มเข้าสูงสังคมสูงวัย มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีต่อจำนวนประชากรมากกว่าร้อยละ 12 ซึ่งมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงอายุกี่ไม่กี่ปีข้างหน้าเช่นกัน

สำหรับสังคมสูงอายุกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญที่ IMF โฟกัส คือตลาดแรงงานที่หายไปจากระบบ และการจับจ่ายที่น้อยกว่าคนในวัยทำงาน โดยประชากรโลกของเราในปัจจุบันมีสถิติประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 962 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรโลกทั้งหมด 7,550 ล้านคน สามารถกล่าวได้ว่าโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ

ทั้งจากข้อมูลระบุว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีสังคมสูงอายุมากที่สุด และก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในโลก โดยคาดว่าสัดส่วนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในทวีปเอเชียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก และถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Super-aged Society) โดยมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ทำให้ปัจจุบันญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ด้านประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศจีน ก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่เกิดจากนโยบายลูกคนเดียว ซึ่งทำให้จำนวนประชากรรุ่นใหม่มีจำนวนน้อยลง โดยอัตราประชากรสูงอายุของจีนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ในปี 2561 เช่นเดียวกันกับเกาหลีใต้ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อจำนวนประชากรใกล้เคียงกับจีน  

ในขณะที่ประเทศอาเซียน สิงคโปร์ และไทย ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน คือมีสัดส่วนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 16 ส่วนกัมพูชา เวียดนาม และลาวยังคงเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

 

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตัวช่วยทดแทนแรงงาน

เห็นชัดว่าการลดลงของจำนวนแรงงานจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งอัตราการขยายตัวของจำนวนแรงงานที่ลดลง โดยอัตราการเกิดที่ต่ำลงและอายุของแรงงานที่สูงขึ้น จะทำให้สัดส่วนกำลังแรงงานต่อประชากรทั้งหมดลดลง และยิ่งประชากรมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานน้อยลง และส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานที่ลดลงด้วย

อย่างไรก็ดีแม้ปัจจุบันจำนวนแรงงานจะมีแนวโน้มลดลง แต่หลายประเทศได้มีการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อทดแทนแรงงานในภาวะที่ประเทศก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และรักษา ประสิทธิภาพการผลิตให้ใกล้เคียงเดิม เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ใช้นวัตกรรมหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมทดแทนแรงงานคน และยังช่วยแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างแรงงานที่เข้าสู่ตลาดกับความต้องการแรงงานของตลาด

โดยนำเอาเทคโนโลยีมาเสริมในงานที่แรงงานไม่ถนัด งานที่ต้องอาศัยความแม่นยำหรือต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งไม่เพียงทดแทนจำนวนแรงงานที่ขาดไปได้เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกเกือบเท่าตัวและช่วยลดข้อผิดพลาดของการผลิตสินค้าลงได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการทำงานยุคต่อไปเทคโนโลยีหุ่นยนต์และออโตเมชั่น จะยิ่งมีบทบาทสำคัญท่ามกลางการเข้าสูงสังคมสูงวัย

 

เศรษฐกิจสูงวัย ใช้จ่ายน้อย จริงหรือ

จากประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเรียกกันว่า ‘เศรษฐกิจสูงวัย’ หรือ Silver Economy ถือเป็นตลาดใหม่ที่จะนำมาซึ่งรายได้มหาศาลต่อเศรษฐกิจโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากผู้บริโภคในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกษียณ ซึ่งมีกำลังซื้อสูงและมักจะมองหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ เช่นการท่องเที่ยว สังสรรค์ ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคในกลุ่มนี้ยินดีพร้อมที่จะจ่าย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพหรือนวัตกรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้

โดยปกติแล้วกลุ่มผู้สูงอายุจะมีสถานะทางการเงินที่ดีกว่ากลุ่มอายุอื่น เนื่องจากปกติแล้วในวัยก่อนการเกษียณ หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 50 ถึง 59 ปี ส่วนใหญ่ทำงานในตำแหน่งที่สูงและได้ผลตอบแทนมาก ทั้งนี้สามารถสรุปได้ว่าประชากรกลุ่มนี้อาจมีเงินออมมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ และมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อน ดูแลความงาม บริการการรักษาพยาบาล รวมถึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการระดับพรีเมียม

เอสเอ็มอีไทยควรปรับใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานคน

สำหรับภาคธุรกิจไทยประเทศไทยจึงควรที่จะหันมาผลิตสินค้าและบริการแบบใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นไปที่ความต้องการของผู้สูงอายุเป็นหลัก โดยผสมผสานนวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ความเข้าใจที่ตอบสนองกลุ่มประชากรอาวุโส ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพอันดับต้นๆ ในตลาดโลก รวมทั้งการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงตลาดแรงงานที่จะหายไป

ซึ่งประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ คือแรงงานไทยหายไปจากระบบงานเร็วเกินไป คือค่าเฉลี่ยที่อายุ 45 ปี ซึ่งเทรนด์นี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องเริ่มมองหาตัวช่วยที่จะทดแทนแรงงานที่ขาดหายไปในอนาคตด้วย เพราะอย่างที่หลายท่านทราบดีว่า ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เกิดน้อย ตายช้า แรงงานหายไปจากตลาดเร็ว ดังนั้นเตรียมแผนรับมือเรื่องนี้ไว้เสียแต่เนิ่นๆ ก็ดี

ส่วนประเด็นที่ IMF กล่าวถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจกับมิติด้านการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย ที่อาจทำให้นโยบายการคลังอัดฉีดไม่ได้ผลเท่าที่ควรนั้น อาจเฉพาะบริบทด้านแรงงาน อุปสงค์ อุปทานของตลาดในระยะสั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานกว่าร้อยละ 10 ของโลกหายไปจากตลาด แต่อย่างที่ระบุไว้ว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทในภาคการผลิตต่อจากนี้ไป และอาจชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจในทศวรรษต่อไป

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/aging-society-slow-economy