อาลัย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
อาลัย เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่
ณ วันเพ็ญเดือนหก ปีมะเส็ง ที่ 22 พฤษภาคม 2472 เจ้านายฝ่ายเหนือองค์น้อย แห่งคุ้มหลวงริมปิงได้ถือกำหนดขึ้น ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา จึงได้รับนามว่า เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นธิดาคนที่ 3 ในจำนวน 4 คนของเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) กับหม่อมจันทร์เทพย์ ณ เชียงใหม่
ชีวิตในวัยเด็กของเจ้าดวงเดือนฯ ได้รับการอบรมอย่างเคร่งครัดในเรื่อง มารยาท ฝึกหัดการเรือน อาทิ อาหารคาวหวาน แกะสลัก ทำน้ำอบน้ำปรุง ทำสวน ปลูกต้นไม้ ทำยาสมุนไพร การแสดง ฟ้อนรำ ทำเพลง เพื่อเป็นตัวแทนต้อนรับอาคันตุกะ ตลอดจนแสดงให้งานสาธารณกุศลต่างๆ นอกจากนั้นยังมีหน้าที่อ่านหนังสือให้เจ้าพ่อและคนในคุ้มฟังตั้งแต่เด็ก เช่น เรื่องกฎหมาย การแพทย์ สมุนไพร ความรู้รอบตัวฯ ซึ่งเมื่อครั้งเป็นเด็กรู้สึกชีวิตถูกบังคับเข้มงวดไม่เป็นสุขเลย ผิดกับเด็กทั่วไปที่มีเวลาวิ่งเล่นเที่ยวกับหมู่เพื่อน แต่เมื่อเติบโตขึ้นกับตรงกันข้าม รู้สึกว่าตนเองช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้รับการพร่ำสอนขัดเกลาจากเจ้าพ่อเจ้าแม่ เพราะทุกสิ่งล้วนมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตโดยตลอดอย่างคุ้มค่า
จบการศึกษาจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย โรงเรียนวัฒโนทัย (คำเที่ยงอนุสรณ์) โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และจบ ม.6 จากโรงเรียนดาราวิทยาลัย สมรสกับคุณพิรุณ อินทราวุธ อาชีพทนายความ เมื่ออายุ 19 ปี
มีบุตร 1 คน และธิดา 3 คน
หลังสมรสคุณพิรุณฯ ได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล สภาจังหวัด และสภาผู้แทนราษฎร เจ้าดวงเดือนฯ เมื่อเป็นภรรยานักการเมืองแล้วก็ไม่อาจหยุดนิ่ง บ่อยครั้งต้องขึ้นรถยนต์ไปต่อม้าหรือช้าง เพื่อแยกเวทีไปช่วยหาเสียงในต่างอำเภอ เมื่อสมัย 60 ปีที่แล้ว นับเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ เพราะเป็นสตรีคนแรกในส่วนภูมิภาคที่มีบทบาททางการเมืองเทียบเท่าบุรุษ ต่อมาต้องรับหน้าที่บริหารหนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในจังหวัด คือ “เสียงเชียงใหม่” หนังสือพิมพ์คุณภาพเพราะบรรณาธิการมีจรรยาบรรณสูง วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาด้วยความเที่ยงตรง คารมกล้าแกร่งตรงไปตรงมาไม่หวั่นอิทธิพลใด ภายหลังได้รับ การคัดเลือกให้เป็นอุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคเหนือและอุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค
ในยุคที่วิทยุและโทรทัศน์เริ่มได้รับความนิยม เจ้าดวงเดือนฯ ได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุที่มีสาระชี้นำปัญหาสังคม เป็นรายการที่มีสไตล์แตกต่างกันถึง 4 รายการ ด้วยองค์ความรู้ที่หลากมิติรอบด้าน แนวคิดและวิธีนำเสนอเฉียบคม รายการวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America) จึงมอบเหรียญ VOA ให้ในฐานะที่เป็นนักจัดรายการดีเด่น
ปี 2513 สอบเป็นผู้พิพากษาสมทบคดีเด็กและเยาวชนได้ที่ 1 จึงเป็นสตรีคนแรกทางภาคเหนือที่ปฏิบัติหน้าที่นี้ อบรมเด็กเป็นอย่างดีจนได้รับโล่ผู้พิพากษาผู้รักษาความเที่ยงธรรม ปี 2517 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจร่วมแก้ไขปัญหาที่ถูกซ่อนไว้อย่างจริงจัง อาทิ ปัญหาสตรีถูกตกเขียว หมู่บ้านดอกคำใต้ รณรงค์ให้สตรีสามารถลุกขึ้นมาสร้างกลุ่มและพัฒนาตนเองไปสู่ความเข้มแข็ง ช่วยรณรงค์วางแผนครอบครัวจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสำนักงานเขต สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีบทบาทพิทักษ์ความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเด็กไทยอายุ 16 ปี ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรม 19 ศพ ที่วัดไทยในรัฐอริโซน่า สหรัฐอเมริกาเพราะเห็นว่าถูกจับเป็นแพะจึงรณรงค์ด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ เพื่อหาเงินช่วยสู้คดีนานถึง 16 ปี ศาลจึงตัดสินยกฟ้องว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
เป็นกรรมการ คณะทำงาน มูลนิธิสมาคม สถาบันการศึกษา องค์กร กิจกรรมต่างๆ เป็นอันมาก แต่เรื่องที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อเนื่อง คือ งานศิลปวัฒนธรรม เจ้าดวงเดือนฯ ไม่เพียงแต่รู้คุณค่าของมรดกวัฒนธรรมไทย-ล้านนา ที่ได้สัมผัสซึมซับมาแต่ครั้งเยาว์วัยเท่านั้น ท่านยังได้คิดพิเคราะห์นำจุดแข็งมาเผยแพร่อย่างเป็นวิถีปฏิบัติ เช่น การพูดคำเมือง แต่งกายด้วยอาภรณ์พื้นเมือง นำการจัดเลี้ยงแบบขันโตกมาประชาสัมพันธ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ทำให้เด็กและเยาวชนภูมิใจในอัตลักษณ์ ส่งผลให้เกิดมาตรฐานบริการ คนต่างชาติ ต่างถิ่นที่มาเชียงใหม่ต้องการสัมผัสบรรยากาศแบบขันโตกทุกราย เจ้าดวงเดือนฯ นำความก้าวหน้าสู่วงการวัฒนธรรมจังหวัดมาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งเป็นผู้ริเริ่มจัดงานไม้ดอกไม้ประดับหรืองานพฤกษชาติจังหวัดจนกระทั่งปัจจุบัน จึงเป็นประธานสภาวัฒนธรรมคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศไทย
ด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม ด้วยเห็นว่ายังมีภาวะว่างงานในกลุ่มสตรีหลังฤดูเก็บเกี่ยว จึงเปิดใต้ถุนบ้านเป็นโรงทอผ้า ซึ่งผ้าไหมเป็นผ้าที่งดงามน่าหลงไหลยิ่ง แต่กว่าจะได้เส้นด้ายใยไหมจำเป็นต้องต้มรังฆ่าตัวแม่ทำบาปก่อน ดังนั้น เจ้าดวงเดือนฯ จึงรณรงค์ที่จะอนุรักษ์การทอผ้าฝ้ายลายโบราณและสืบสานเคล็ดวิธีการย้อมสีด้วยวิธีธรรมชาติ ศึกษาจริงจังจนยกมาตรฐานการทอผ้า ขยายผลม่อนดวงเดือนเป็นโรงทอฝ้ายดวงเดือน 2 โรง ต่อยอดเป็นศูนย์อบรมหัตกรรมพื้นเมืองจอมทอง จนได้รับการยกย่องจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นกิจกรรมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าและสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้านไปพร้อมกัน
ในปี พ.ศ. 2561 เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้แจ้งความประสงค์บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุตามสิทธิของตนให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและรณรงค์ร่วมบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ตลอดระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมา จากผลงานซึ่งเป็นที่ประจักษ์ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนและสังคมในวงกว้างของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สตรีสูงศักดิ์ผู้ได้รับการขนานนามว่า สุภาพสตรีระดับชาติได้อย่างสมความภาคภูมิ เป็นต้นแบบคนดีศรีแผ่นดินและเป็นเพชรน้ำหนึ่งของชาวไทยล้านนา และในปี พ.ศ. 2558 คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบให้ประกาศสดุดี
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็น ผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2558 เพื่อบันทึกเกียรติคุณนี้ไว้ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมสืบไป
ประวัติการทำงาน
เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ สอบเข้าเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชน ได้ในปี พ.ศ. 2513 และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงเชียงใหม่ ทั้งเป็นนักจัดรายการวิทยุ
ที่ต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- เป็นผู้เริ่มโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
- ผู้เริ่มจัดงานไม้ดอกไม้ประดับ หรือ งานบุปผาชาติ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ยุคนั้น ซึ่งงานนี้ได้ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นับเป็นเจ้านายสตรีฝ่ายเหนือเพียงคนเดียวในยุคนั้นที่เป็นตัวแทนสตรี ส่วนภูมิภาคนอกนครหลวงของประเทศ
- ผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นสตรีคนแรกที่นั่งบัลลังก์ในฐานะตุลาการในศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัด เชียงใหม่
- กรรมการกลางของชาติในโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง
- กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่
- เลขานุการสมาคมสตรีศรีลานนาไทย
- ประธานสภาวัฒนธรรมคนแรกของเชียงใหม่และคนแรกของประเทศไทย
- ได้จัดตั้งมูลนิธิเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2558
- ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่องเป็นบุคคล "ค่าแห่งแผ่นดิน" ในด้านการส่งเสริมศาสนา และวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2564 โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
- บริจาคเบี้ยเข้ากองทุนผู้สูงอายุ และรณรงค์การบริจาคเบี้ยผู้สูงอายุ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ในปี พ.ศ. 2561