23 มกราคม 2568 กรมกิจการผู้สูงอายุขอร่วมยินดีกับประวัติศาสตร์แห่งความรักและความเท่าเทียมครั้งแรกของประเทศไทย
วันที่ 23 มกราคม 2568 "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" หรือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 บังคับใช้อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
กรมกิจการผู้สูงอายุขอร่วมยินดีกับประวัติศาสตร์แห่งความรักและความเท่าเทียมครั้งแรกของประเทศไทย โดยประเทศไทยเป็นชาติแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นแห่งที่ 3 ของทวีปเอเชีย และแห่งที่ 38 ของโลก ที่จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยกฏหมายดังกล่าวให้สิทธิของคู่รัก ดังนี้
-
หมั้น - สมรสได้ระหว่าง “บุคคล - บุคคล” ไม่จำกัดเเค่ “ชาย - หญิง” โดยแก้ไขใจความหลักของการสมรสจากชาย-หญิง เป็น บุคคล เปลี่ยนถ้อยคำที่บ่งชี้เพศอย่างคำว่า สามี-ภริยา เป็น คู่สมรส ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ฉบับแก้ไขใหม่เพื่อรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม ยังแก้ไขอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและการสมรส จาก 17 ปีบริบูรณ์ เป็น 18 ปีบริบูรณ์ และกำหนดรับรองสิทธิของคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายใหม่ มีสิทธิตามกฎหมายอื่นๆ ที่รับรองสิทธิของสามี-ภริยา ตามกฎหมายแพ่งเดิม
-
บุคคลสองฝ่ายหมั้น-สมรสได้ ปรับอายุขั้นต่ำการหมั้น-สมรส จาก 17 ปีเป็น 18 ปี โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กล่าวคือ อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ และยังไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน หากประสงค์จะทำการหมั้นหรือการสมรส จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้รับบุตรบุญธรรรมก่อน (มาตรา 1436) อย่างไรก็ดี ในกฎหมายสมรสเท่าเทียม นอกจากจะแก้ไขเรื่องสำคัญ คือ จากการหมั้นหรือการสมรสที่ทำได้เฉพาะ “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคลสองฝ่าย” แล้ว ยังปรับอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสจาก 17 ปีเป็น 18 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ หากมีเหตุอันสมควร ศาลก็สามารถอนุญาตให้บุคคลสมรสก่อนอายุ 18 ปีได้ เช่น มีฝ่ายหนึ่งที่ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 18 ปีและประสงค์จะทำการสมรสกับอีกฝ่าย
-
คนไทยสมรสกับชาวต่างชาติตามกฎหมายไทยได้ โดยบุคคลที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ โดยการสมรสกับชาวต่างชาติสามารถทำได้ที่ภายในประเทศไทย คือ จดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือทำในต่างประเทศ ณ สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ
-
รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ โดยป.พ.พ. เดิม กำหนดหลักการรับบุตรบุญธรรมว่า ฝั่งผู้รับบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ถึงจะรับบุตรบุญธรรมได้ และต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี (มาตรา 1598/19) หากผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสอยู่แล้ว ต้องได้รับความยินยอมจากจากคู่สมรสก่อน (มาตรา 1598/25) ในกรณีที่ฝั่งบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกไม่ได้ เว้นแต่คู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม อีกนัยคือ คู่สมรสสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ (มาตรา 1598/26 วรรคแรก) ซึ่งในป.พ.พ. แก้ไขใหม่ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการนี้ เท่ากับว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใด ก็สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
-
คู่สมรสฝ่ายหนึ่งตาย อีกฝ่ายมีสิทธิได้รับมรดก โดยสถานะความเป็น “คู่สมรส” ยังส่งผลต่อเรื่องสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิตด้วย ป.พ.พ. กำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้แก้ไขเรื่องนี้ เท่ากับว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ยกเว้นแต่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
-
สมรสเท่าเทียม คู่สมรสมีสิทธิ-ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายอื่นๆ
ในป.พ.พ. แก้ไขใหม่ ได้กำหนดแก้ไขปัญหาตรงนี้ไว้ด้วยการระบุว่า บรรดากฎหมายอื่นๆ ที่อ้างถึงสามี-ภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ไม่รวมถึงกรณีที่กฎหมายเหล่านั้นกำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี-ภริยา ไว้แตกต่างกัน ดังนั้น หากคู่สมรสใดที่ไปจดทะเบียนสมรสเมื่อป.พ.พ. แก้ไขใหม่ที่รับรองสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับแล้ว ก็จะมีสิทธิ หน้าที่ หรือได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติถึงสิทธิของ “คู่สมรส” หรือ “สามี-ภริยา” ไว้ เช่น
สิทธิในการใช้นามสกุลของคู่สมรส สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาล สิทธิในการบรรจุเป็นข้าราชการกรณีคู่สมรสเสียชีวิตจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น
ที่มา : iLaw โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน